#วัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ ที่รวมรวมแหล่งความรู้ โบราณสถาน โบราณวัตถุและยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียดอีกด้วย
วัดทองทั่ว เป็นวัดที่เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดเดิมชื่อ วัดเพนียด ซึ่งอยู่ห่างไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ประมาณ ๕๐๐ เมตร ปัจจุบันเป็นวัดร้างขึ้นทะเบียนของกรมการศาสนา
วัดทองทั่ว ได้ย้ายมาจากวัดเพนียดร้าง และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดทองทั่ว ตามตำนานเรื่องนางกาไว หนังสือรับรองสภาพวัดที่ทางกรมการศาสนาออกให้ รับรองว่าวัดทองทั่วเป็นวัดสมบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ ซึ่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่า วัดทองทั่ว น่าจะเป็นพระอารามหลวงมาก่อน เพราะมีหลักฐานจากใบสีมา รอบพระอุโบสถ เป็นใบสีมาคู่ทั้ง ๘ ทิศ ก็น่าจะเป็นได้ เพราะอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ พระเจ้าตากขึ้นครองราชย์สมบัติ ณ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
จากการบันทึกในจดหมายเหตุ สมัยรัชกาลที่ ๕ ร.ศ.๑๑๗ มณฑลจันทบุรี ว่า “มีผู้นิยมการศึกษามากทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฆราวาส วัดที่สมควรจะจัดตั้งเป็นโรงเรียนหลวงในจำนวน ๕ วัด มีวัดทองทั่ว ตำบลบ้านสระบาป(ปัจจุบันเขียนสระบาป)แขวงอำเภอตะวันออก เนื่องจากวัดเหล่านี้อยู่ใกล้ชุมชนหมู่บ้านเป็นที่นิยมของราษฎร รวมทั้งอาวาสก็เอาใจใส่ในการศึกษา เมื่อตั้ง แล้วคงจะเจริญได้ตามลำดับ ” ตั้งแต่เดิมทางวัดมีแต่การสอน ปฐม ก.กา วัดทองทั่วจึงเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ มีเจ้าอาวาส ปกครองวัดมาโดยตลอดและเป็นรองเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะหมวด(เจ้าคณะตำบล)ถึง ๔ รูป ตามเท่าที่สืบค้นได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน
#โบราณสถานโบราณวัตถุ พระอุโบสถ
กรมการศาสนา ออกหนังสือรับรองสภาพวัดว่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ อยู่ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร และศิลปะโครงสร้างเดิมก็เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงต่อเติม เท่าที่ทราบตามประวัติเจ้าอาวาสทุกองค์ที่เคยปกครองวัดมีการบูรณะซ่อมแซมทุกเจ้าอาวาส ศิลปะเดิมก็เลือนหายไปศิลปะใหม่ก็ถูกสร้างไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น จนเป็นที่เห็นในปัจจุบันและเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ เจ้าอาวาสท่านได้บูรณะหลังคา ทาสี เปลี่ยนหน้าบันที่เคยมีรูปเขียนก็หายไป ไม้เครื่องบนก็เปลี่ยนเป็นบางตัวกระเบื้องมุงหลังคาก็เปลี่ยนใหม่ บางส่วนยังคงอนุรักษ์ของเดิมไว้ สรุปแล้วมีการเลี่ยนแปลงทุกเจ้าอาวาส
ใบสีมาเป็นหลักเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานที่ ถวายให้เป็นของสงฆ์ สำหรับให้พระสงฆ์ได้ทำสังฆกรรม ตามหลักของพระธรรมวินัย ใบสีมารอบอุโบสถวัดทองทั่วเป็นใบสีมาคู่ สันนิษฐานว่า พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชศรัทธาสร้างหรือไม่ก็เจ้าเมืองจันทบุรีสร้าง แล้วขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง วัดนั้นจึงจะตั้งใบสีมาคู่ได้ ในจันทบุรีมีอยู่ ๒ วัด คือ วัดทองทั่ว และ วัดกลาง ตามลักษณะใบสีมาจัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีเพียง ใบเดียวเท่านั้น ที่หน้าอุโบสถ ที่พิเศษ คือมีรูปเทวดานั่งประนมมือถือดอกบัว ๒ ดอก แยกออกว้ายขวา ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย บางท่านว่าในสมัยอยุธยาก็มีศิลปะแบบนี้ อาจจะทำเลียนศิลปศรีวิชัยก็ได้
เป็นพระพุทธรูปเก่า คู่มาเดิมกับอุโบสถ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ตามที่ชาวบ้านเล่าว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๑ พระยามานิตกุลพัทธและพระพิสิษฐสมุทร กับเจ้าอาวาสคือ พระอธิการ ฟู โสรโต ได้บูรณะอุโบสถพร้อมประธาน ซึ่งเอียงทรุดไปทางด้านซ้ายมือของพระองค์พระประธานจึงได้ดีดขึ้นให้ตรง เมื่อดีดองค์ขึ้นตรงแล้ว ฐานพระประธานก็ทรุด ตรงปูนปั้นเรียกว่า ลายผ้าทิพย์ ได้พบ พระยอดธงเนื้อชิน,เงิน,ทอง,นาค เป็นจำนวนมาก และพบโกศงาช้างและแผ่นทองรูปใบโพธิ์ มีตัวหนังสือขอม จารึกไว้ว่า “พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรี เป็นผู้นำมาไว้”และลงวันเดือนปีไว้ แต่ไม่มีใครจำได้ว่า วันเดือนปีเท่าไร พระยอดธงนั้นทราบว่า พระยามานิตกุลพัทธกับพระพิสิษฐ นำไปส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่วัด ต่อมาภายหลังแผ่นใบโพธิ์ทองคำและพระยอดธงทองคำ-นาค ได้สูญหายไปในสมัยท่านพ่อฟู พร้อมด้วยเงินทองของมีค่ามากมาย จากนั้นทางวัดก็ไม่ได้มีการเปิดเผยให้ใครทราบืเพียงแต่บอกต่อจากเจ้าอาวาสและผู้ใกล้ชิดเท่านั้น ทางวัดได้เปิดให้ชมพระอัฐิของจริงและเปิดให้นมัสการทุกวัน ไหว้หลวงพ่อทอง นมัสการพระอัฐิชมพิพิธภัณฑ์เมืองเพนียด
ภายในวัดยังมีเจดีย์ ๒ องค์ เป็นรูปทรงลังกา เป็นรูปลักษณะที่นิยมในสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ทั้ง ๒ องค์ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยนั้นคู่มากับวัด แต่ชาวบ้านเล่ากันว่า เจดีย์องค์ที่อยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันคือองค์หน้าศาลาการเปรียญ ได้สร้างก่อนทั้งสององค์มีลายศิลปะผสมผสานกัน ช่วงที่จัดสร้างเป็นช่างที่มีฝีมือมากสร้างในสมัยนั้นมี อายุราวประมาณ ๒๐๐ ปี เป็นโบราณสถานของวัดชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมานานนับร้อยปี ............
9 หมู่ 14 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี จันทบุรี 22000